วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

"กรมฝนหลวงฯ ระดมกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ หลังภาวะฝนทิ้งช่วงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง!!

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรระดมกำลังเร่งปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอท่าตะโก และพื้นที่เขตติดต่อในหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน หลังประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิยืนต้นตายกว่า 20,000 ไร่ ชาวนาในพื้นที่วอนขอความช่วยเหลือทำฝนหลวงเร่งด่วน


วันที่ 17 สิงหาคม 2561 เวลา 12.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวพบพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิยืนต้นตายหลายหมื่นไร่ บริเวณตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในจังหวัดนครสวรรค์ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรในอำเภอท่าตะโกได้ฝากถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงนาข้าว หลังจากสถานการณ์เริ่มรุนแรงทำให้ข้าวหอมมะลิที่มีอายุเพียง 3 สัปดาห์ต้องยืนต้นตาย โดยคลองสาธารณะและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเกิดภาวะแห้งขอด กลุ่มเกษตรกรนอกเขตชลประทานหลายพื้นที่จึงต้องตัดสินใจปล่อยทิ้งนาข้าวที่มีพื้นที่รวมกว่า 20,000 ไร่ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการและกำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยในอำเภอท่าตะโก และพื้นที่เขตติดต่อในจังหวัดนครสวรรค์ที่ได้รับผลกระทบ ตามที่ได้รับการร้องขอทันที


นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่การเกษตรในตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ประมาณ 20,000 ไร่ ได้รับการร้องขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และจากการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลหลัก จำนวน 2 ภารกิจ 4 เที่ยวบิน 6:35 ชั่วโมงบิน ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรตรงตามความต้องการของเกษตรกรที่อำเภอท่าตะโก รวมถึงพื้นที่เขตติดต่อที่อำเภอลาดยาว บรรพตพิสัย เมืองนครสวรรค์ ชุมแสง หนองบัว โกรกพระ และไพศาลี ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ว่าการปฏิบัติการล่าสุด ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อน มีปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ จะยังคงปฏิบัติการทำฝนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป


สำหรับพื้นที่การเกษตรในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีการร้องขอฝนและมีความต้องการน้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งจะเร่งปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรตามที่มีการร้องขอในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และการรายงานข่าวการปฏิบัติการประจำวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น