คนไทยไม่ต่างอะไรกับ“หนูทดลองยา
ยาคืออะไร ยาคือสารหรือสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย ทำให้มีผลในการ ป้องกันโรค บำบัด บรรเทา รักษาโรค และ การส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นยาก็คือปัจจัยสี่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโรคภัยไข้เจ็บเช่นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อบรรเทาอาการเมื่อเจ็บป่วยหรือเพื่อให้หายขาดจากโรคที่ตนเจ็บป่วยอยู่ หรือเพื่อเสริมสร้างและซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย ผุพังไป และนำกลับมาใช้ได้เหมือนปกติเพราะฉะนั้นแล้วการที่ยาจะออกมาจำหน่ายหรือนำมารักษาโรคต่างๆให้กลับคนไข้จะตัองมีการตรวจสอบที่ดีก่อนนั้นก็คือหน่วยงาน อย.
จากกรณีที่นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางหน่วยงานอยู่ระหว่างเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ยา “วาลซาร์แทน” (Valsartan) รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยอย. มีการออกประกาศเรียกเก็บ 2 รอบ รอบแรก เดือน กค. มี 2 บริษัท จำนวน 5 ตำรับ โดยมีสารตั้งต้นจากประเทศจีน รอบที่ 2 มีการประกาศเรียกเก็บเพิ่มเมื่อวันที่ 28 สค. โดยมีสารตั้งต้นจากประเทศอินเดีย ที่มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยในรอบนี้มี 2 ตำรับ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้รับคัดเลือกเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย โดย สวทช. ต้องออกจากท้องตลาดภายใน 15 วัน เพื่อนำไปทำลาย หลังตรวจพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบ พร้อมเรียกดูข้อมูลจำนวนการผลิต และการขายจาก 2 บริษัท ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันนั้น
สำหรับประชาชนที่มียาดังกล่าว สามารถนำกลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ เพื่อขอเปลี่ยนยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ ได้ให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าในยากลุ่มเดียวกัน ยังมีอีก 9 ตำรับ ที่สามารถใช้ได้ ส่วนในอนาคต หากเกิดปัญหาสามารถฟ้องร้องได้โดยตรงกับทางบริษัท โดยใช้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
ขณะที่ นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการอย.แนะผู้ป่วยให้ทานยาลดความดัน ตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง โดยอย่าวิตกกังวลจนไม่กล้าทานยา เพราะอาจทำให้มีผลแทรกซ้อนจากโรคความดัน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น เบื้องต้น ทาง 2 บริษัทยา ยินดีรับผิดชอบจ่ายคืนเงิน และเปลี่ยนตัวยาที่ไม่มีปัญหาให้แทน
ด้านนายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจวัฒนา เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน จากจำนวนผู้ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง กว่า 49 ล้านคน โดยพบเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ประมาณร้อยละ 15
จากเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงการยาให้ทรรศนะว่า การที่ยาได้ผ่านการพิจารณาเข้าบัญชีนวัตกรรมไทยได้ ต้องผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณามาแล้วอย่างถี่ถ้วน ไม่ควรต้องกังวลในเรื่องของความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพของยา แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้คืออะไร มันคือความล้มเหลวในเรื่องนโยบายสาธารณสุข แทนที่ยาควรจะมีประสิทธิภาพ มีนวัตกรรม แต่นี่กลับไม่มีเลย
“ผลเสียที่จะเกิดในอนาคตกับคนไข้ที่ได้รับยาดังกล่าวไปแล้ว รัฐจะชดเชยความเสียหายหรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ในกรณีนี้ถ้าผู้ป่วยจะฟ้องร้องชดเชยค่าเสียหายหรือค่ารักษาพยาบาลจากภาครัฐได้หรือไม่ ทำไมเราต้องรอให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาก่อน ภาครัฐควรตระหนักและให้สำคัญในประเด็นของ คุณภาพของยา ความปลอดภัยของการใช้ยาเป็นหลัก”
ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวยังได้แสดงความเห็นต่อไปว่า เราควรจะมีการตรวจสอบการทำงานของอย.และหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลกำกับ “ยา” ,อย.ควรมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นกับยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ปัจจุบันเมื่อขึ้นทะเบียนผ่านอย.มีการตรวจสอบคุณภาพยาเหล่านั้นอย่างไร ประกาศให้ประชาชนทราบและถอนทะเบียนดังกล่าวยังไง, ยาที่ถูกขึ้นในบัญชีนวัตกรรมโดยสวทช.แต่มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนอย.เรียกเก็บอย่างไรและเก็บไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างไร แล้วยาที่มีปัญหายังอยู่ในบัญชีนวัตกรรมหรือไม่อย่างไร ขณะนียังไม่มีการชี้แจงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สวทช และคนไทยในวันนี้กลายเป็นหนูทดลองยาหรือไม่ คุณภาพชีวิตคนไทยอยู่ตรงไหน
ที่สำคัญไปกว่านั้นหากผู้ที่บริโภคยาที่มีปัญหาดังกล่าวที่ทางอย.สั่งเก็บออกจากท้องตลาด หากในวันข้างหน้าพวกเขาเหล่านั้นเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาอย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะที่ออกมาชี้แจงแถลงไขให้กับประชาชนได้รับทราบและเข้าใจถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะตามมาด้วย
หรือจะปล่อยให้คนไทยเป็น “หนูทดลองยา” อยู่แบบนี้อีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น