อับดุลหาดี/ยะลา/2 ก.ค. 62
ศอ.บต. ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคการเกษตร ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ผนึกกำลังผลักดันนโยบาย “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” ให้เป็นพืชแห่งอนาคตในพื้นที่ จชต. หนุนเกษตรกรในพื้นที่ จชต. ทำเกษตรผสมผสาน
วันนี้ (2 กรกฎาคม 2562 เวลา 9.00 น.) ที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสาน ผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” พืชแห่งอนาคต โดยมี ภาคีเครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย ภาคี ภาคการเกษตร ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดย สภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ภาคีภาคเอกชน จาก บริษัท DIKEenergy บริษัท WooAm corporation ประเทศเกาหลีใต้ และบริษัท GB energy ซึ่งทำธุรกิจ เกี่ยวกับพลังงานสะอาด รวมทั้ง บริษัท Woodplus ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายกล้าพันธุ์ไผ่ และไผ่ชีวมวลอัดเม็ด (Bamboo Pellet) ภาคีภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สืบเนื่องจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดย สภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ริเริ่มและขยายผลโครงการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ไปสู่การทำเกษตรผสมผสานในวงกว้างมากขึ้นให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในปี พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายหลักเพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ จากเดิมเป็น “การปลูกยางเชิงเดี่ยว” หรือ “พืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ” ให้เป็น “ฟาร์มสวนยาง” ที่นำหลักการเกษตรผสมผสานมาปรับและพัฒนาให้เข้ากับวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้ง ให้สอดคล้องกับหลักภูมิศาสตร์ ภูมิสังคมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพร้อมกัน ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด การสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนและเป็นหลักประกันการสร้างรายได้ในระยะยาว ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีแนวทางที่จะส่งเสริมเกษตรผสมผสาน ผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” ซึ่งถือว่าเป็นพืชแห่งอนาคตตัวใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับเกษตรกรร่วมกับพืชเดิมที่เกษตรกรเพาะปลูก
โดยในส่วนของ ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อ ประสาน เชื่อมโยง เชื่อมต่อ ริเริ่ม ดำเนินการ ร่วมดำเนินการ ตลอดจน เร่งรัดกำกับติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสาน ผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” พืชแห่งอนาคตของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระบบต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ให้เป็นไปตามเป้าหมายพื้นที่การเพาะปลูกไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2565 โดยให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและผลักดันนโยบาย “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” ให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายได้ เศรษฐกิจ งานอาชีพ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอย่างเร่งด่วน อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังประเทศปลายทางที่เป็นตลาดรับซื้อ ผ่านท่าเรือพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และที่ใกล้เคียง
ด้าน ภาคีภาคการเกษตร ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดย สภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล จะทำหน้าที่รวบรวม คัดกรองและคัดเลือกสมาชิกเกษตรกร องค์กรเกษตรและเครือข่ายสมาชิก องค์กรสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสาน ผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” ด้วยการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสาน ให้ได้พื้นที่การเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงานที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ ในระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ โดยประสานแผนการทำงานให้สอดคล้องกับภาคเอกชนและการสนับสนุนของรัฐ เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือและการประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ ภาคเอกชนและองค์กรภาคีเครือข่ายการทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการไปสู่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ปัญหาอุปสรรคและแนวทาง การแก้ไขปัญหา-พัฒนาบนฐานความจำเป็นและความต้องการของเกษตรกร
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่ร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนและผลักดันนโยบาย “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ จะทำหน้าที่เร่งรัดพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตภาคเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยรักษา ป้องกันและคุ้มครองพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตรและสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินเป็นของตนเองหรือ มีสิทธิทำกินในที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและหรือพื้นที่ที่ประชาชนบุกรุกทำกินแล้วแต่ยังไม่ได้รับสิทธิที่ดินทำกินที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรของกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการการเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจ ตลอดจน พืชพลังงานอื่น ๆ ที่เป็นไปตามความเห็นชอบร่วมกันของหน่วยงานตามบันทึกความร่วมมือ สนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร รวมถึง เครื่องจักรกลทางการเกษตรและปัจจัยสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
สนับสนุนบุคลากร วิชาการและองค์ความรู้ ตลอดจน เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนโครงการไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้ง พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เฉพาะพื้นที่-องค์ความรู้ของชุมชน/ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงานอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากภาครัฐแล้วยังมี ภาคเอกชน จาก บริษัท DIKEenergy บริษัท WooAm corporation ประเทศเกาหลีใต้ และ บริษัท GB energy รวมทั้ง บริษัท Woodplus ซึ่งจะดำเนินการเป็นหน่วยรับซื้อไม้ไผ่เศรษฐกิจที่มีขนาดลำต้นเหมาะสมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกรายโดยกำหนดอัตราการซื้อขายที่ราคาระหว่าง 650-700 บาทต่อตัน เป็นระยะเวลา 21 ปี (พ.ศ. 2563-2583) ทั้งนี้ การกำหนดราคาข้างต้นจะเป็นไปในราคาเช่นใดนั้น ให้พิจารณาตามราคามาตรฐานอ้างอิงตลาดต่างประเทศและพิจารณาถึงประโยชน์และรายได้ของเกษตรกรเป็นสำคัญจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตไผ่เศรษฐกิจ ต้นแบบอุตสาหกรรมป่าไม้เศรษฐกิจและการแปรรูป แบบครบวงจร โดยประชาชนมีส่วนร่วมกระจายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ครอบคลุมทั้ง 5 จังหวัด เพื่อเป็นขั้นตอนการทำงานเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การจัดตั้งเป็นอุตสาหกรรมไม้ไผ่เศรษฐกิจของประชาชน ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงของ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ว่าด้วย Clean Development Mechanism (CDM) โดยไม่ดำเนินการใดใดที่จะนำไปสู่การสร้างปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีและงานวิชาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงานประเภทอื่น การร่วมทุนกับประชาชน การพัฒนาแปลงเกษตรต้นแบบการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มาจากไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงาน แบ่งปันผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจไปในรูปแบบการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านการสนับสนุนงานธุรกิจเพื่อสังคมที่สำคัญ อาทิ การลดก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มปริมาณก๊าชออกซิเจนในอากาศ น้ำดื่มที่สะอาดที่มาจากต้นไผ่ให้กับครัวเรือนและชุมชน และการสนับสนุนเงินทุนเพื่อศาสนา การศึกษาและอาชีพให้สมาชิกเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการและผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมเป็นเครือข่ายการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) มุ่งสร้างสังคมที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและสงบสุข ด้วยการสร้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมือง “แห่งไม้ไผ่เศรษฐกิจต้นแบบการบริหารจัดการที่ครบวงจร” หรือ “International Bamboo City”
และในส่วนของ ด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดทำข้อมูลด้านพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชชีวมวลประเภทอื่น จัดทำแปลงปลูกพืชพลังงานในลักษณะแปลงสาธิตของประชาชน การพัฒนาสายพันธุ์ไผ่เศรษฐกิจให้เป็นพืชเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง การเพิ่มศักยภาพและผลผลิตสูงสุดที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชชีวมวล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงานประเภทอื่น เช่น การเพาะพันธุ์เนื้อเยื่อไผ่ให้มีความเหมาะสมและเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คุณค่าพลังงานสูง รวมทั้ง เป็นแกนกลางการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกระดับ ให้เข้าร่วมเป็นส่วนวิชาการที่รองรับการทำงานในระดับพื้นที่
อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนสนับสนุนและผลักดันนโยบาย “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วนมาผนึกกำลังการทำงานร่วมกัน อย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยมุ่งเป้าหมายหลักร่วมกัน นั้นคือ ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีรายได้ที่มั่นคงและเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ไปสู่การเพิ่มจำนวนเกษตรกรและผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาปี พ.ศ. 2565 โดยเฉพาะความพยายามเชื่อมโยงประสานการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ครอบคลุมกระบวนการทำงานทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทางเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาของรัฐ เอกชนและสถาบันวิชาการต่อไป
ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น