วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อย่าเลือกปฏิบัติ! 2ลุงป้า ร้องขอให้ถอนทุบตึก ชี้ถูกทนายดังกลั่นแกล้ง  


จากกรณีที่ 2 ลุงป้า เจ้าของตึกย่านสวนมะลิ เคยออกมาร้องขอความเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ทางเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในชั้นที่5 และ6 จำนวน 4 คูหา ซึ่งทางเขตได้ถือหมายศาลเตรียมเข้ามารื้อถอน ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด 2 ลุงป้า ได้ยื่นหนังสือขอให้ทางเขตพิจารณาคำสั่งรื้อถอนใหม่ ลั่น ถ้าจะรื้อก็ให้รื้อทั้ง 33 คูหา อย่าเลือกปฏิบัติสั่งรื้อแค่ตึกของตนเองเท่านั้น 


คุณลุงสมชาย และคุณป้าเพ็ชรรัตน์ อุตมะวณิชย์ เจ้าของตึกย่านสวนมะลิ พร้อมทั้งทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ได้ยื่นหนังสือร้องของความเป็นธรรมกับนายยุทธนา ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ให้พิจารณาคำสั่งรื้อถอนอาคาร จำนวน 4 คูหาใหม่ จากกรณีที่ถูกเจ้าของอาคารใกล้เคียงใช้ช่องว่างของกฎหมายกลั่นแกล้ง จนทำให้เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ใช้คำสั่งศาลปกครองรื้อถอนอาคารในชั้นที่ 5 และ 6 ของทั้งคู่ หลังถูกทางเขตฯ ถือหมายศาลเข้ามาเตรียมรื้อถอนอาคาร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งทั้งคู่มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากอาคารของตนเอง ได้สร้างมาพร้อมกับอาคารหลังอื่นในย่านนั้นรวม 33 คูหา แต่ทางเขตฯ กลับจะมารื้อถอนเฉพาะอาคารของตนเองเท่านั้น จึงทำให้ในวันนี้ต้องมายื่นหนังสือดังกล่าว 


โดยคุณลุงสมชาย และคุณป้าเพ็ชรรัตน์ อุตมะวณิชย์ เจ้าของตึก เล่าว่า อาคารนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2507 โดยยื่นแบบก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น และได้มีการต่อเติมอาคารในชั้นที่ 5 และ 6 จำนวน 33 คูหา ก่อนที่ตนเองจะซื้ออาคารนี้มาจากเจ้าของเดิม เมื่อปี 2548 แล้ว โดยไม่รู้ว่าอาคารหลังนี้มีข้อพิพาทกับเจ้าของอาคารข้างเคียงเมื่อปี 2541 ต่อมา เจ้าของอาคารคนเดิมได้เสียชีวิตลง ทำให้คู่พิพาทได้ยื่นฟ้องตนเอง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายบีบให้ทางเขตฯ ใช้อำนาจทางการปกครองถือหมายศาลเข้ามารื้อถอนอาคารแห่งนี้ของตนเองเพียง 4 คูหา ส่วนที่เหลือ 29 คูหา กลับไม่ถูกรื้อถอน 


 ด้านทนายอนันต์ชัย ไชยเดช กล่าวว่า อาคารหลังนี้สร้างมาในคราวเดียวกันจำนวน 33 คูหา หากมีคำสั่งรื้อถอนก็ควรปฏิบัติเหมือนกันทั้งหมด อย่าเลือกปฏิบัติ หรือเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยอาคารทั้งหมดปลูกสร้างเสร็จก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้ระบุชัดเจนว่า กรณีที่มีการต่อเติมอาคารผิดแบบ ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น ทางเขตฯ หรือเจ้าพนักงานปกครองท้องถิ่นจะต้องทำหนังสือให้แก้ไขอาคารที่มีการต่อเติม เพื่อไม่ให้กระทบกับอาคารข้างเคียง ซึ่งในคดีนี้มีคำสั่งศาลฎีกา ให้มีการแก้ไขเกี่ยวกับลักษณะอาคาร ส่วนที่มีการต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ต้องทุบ รื้อถอน อธิบายง่ายๆ คือแก้ไขในเอกสาร แต่ฝ่ายผู้ร้องไม่ยอม ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จนกระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งให้รื้อถอน และปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่จากการตรวจสอบคำสั่งรื้อถอนของสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ศาลฎีการะบุว่าเป็นการออกคำสั่งข้ามขั้นตอน จึงทำให้คำสั่งดังกล่าวนั้นออกโดยมิชอบ 


ทั้งนี้ จึงพาผู้เสียหายเข้ามายื่นหนังสือดังกล่าว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้ กรณีถ้าคำสั่งของ 2 ศาลไม่ตรงกันแบบในกรณีนี้ ให้ยึดตามคําสั่งของศาลฎีกา เนื่องจากมีการลงพื้นที่เดินเผชิญสืบครบถ้วนทุกมิติแล้ว ประกอบกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ของสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวนั้นออกมาโดยไม่ชอบ จึงไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม และการรื้อถอนอาคารที่มีโครงสร้างลักษณะนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าการแก้ไข้ในเอกสาร อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นหนังสือให้ทางเขตฯ แล้ว ก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในกรณีนี้กับทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น